ไซบีเรียนฮัสกี้

ไซบีเรียนฮัสกี้


Istock 869510892 %281%29


ลักษณะทั่วไปของไซบีเรียนฮัสกี

โดยส่วนใหญ่ไซบีเรียน ฮัสกีโตเต็มวัยจะมีความสูงประมาณ 20 - 23.5 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 17 -  28 กิโลกรัม จัดอยู่ในกลุ่มสุนัขขนาดกลาง โดยเพศผู้จะมีขนาดตัวและน้ำหนักมากกว่าเพศเมีย ลักษณะตัวยาวและมีขนาดพอเหมาะ รวมทั้งมีความอึด มีพลัง และรวดเร็ว 

ลักษณะนิสัยส่วนตัวของไซบีเรียนฮัสกี

ไซบีเรียน ฮัสกี เป็นสุนัขที่ตื่นตัวตลอดเวลา ฉลาด รักอิสระ ดื้อ ซน รักสนุก ชอบเข้าสังคม อยากรู้อยากเห็น ต้องการเอาใจใส่และการดูแลอย่างมาก ที่สำคัญชื่นชอบการวิ่ง ซึ่งนับเป็นความสามารถที่โดดเด่นที่สุดของสุนัขพันธุ์นี้ โดยสามารถวิ่งต่อเนื่องได้นานนับชั่วโมง แม้ว่าโดยส่วนใหญ่ไซบีเรียน ฮัสกี จะเป็นมิตร แต่ก็อาจดุร้ายต่อสุนัขที่ไม่คุ้นเคย นอกจากนี้บางตัวอาจมีนิสัยชอบขุดคุ้ย กัดสิ่งของต่างๆ และหอนในบางครั้ง

การดูแลไซบีเรียนฮัสกี

ไซบีเรียน ฮัสกี ต้องการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน และต้องแปรงขนสัปดาห์ละครั้ง และจำเป็นต้องแปรงขนทุกวันในช่วงที่มีการผลัดขน ชอบอากาศหนาวเย็น แต่แม้ว่าสุนัขสายพันธุ์นี้จะสามารถอาศัยอยู่นอกบ้านในอากาศที่หนาวเย็นได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการให้ใช้เวลาอยู่ทั้งภายในบ้านและนอกบ้านเท่าๆ กัน

ประวัติของไซบีเรียนฮัสกี

ชาวชุกชี (Chukchi) ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรีย เป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์สุนัขไซบีเรียนฮัสกีขึ้นมา เพื่อช่วยดูแลฝูงกวางเรนเดียร์และใช้ในการลากเลื่อนหิมะ แต่ต้นกำเนิดของสายพันธุ์นี้ก็ยังคงเป็นปริศนา ซึ่งคาดว่าไซบีเรียน ฮัสกี้น่าจะมีส่วนผสมของสุนัขหลายๆ พันธุ์รวมกัน ชาวชุกชีต้องใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะสามารถฝึกให้สุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขลากเลื่อนได้ 
ปี ค.ศ. 1909 เป็นปีแรกที่ชาวชุกชีได้นำสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกีมาลงแข่งขันลากเลื่อน ซึ่งในอดีตการแข่งขันสุนัขนับว่าเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมาก ในการแข่งขันครั้งหนึ่ง สุนัขจะต้องวิ่งเป็นระยะทาง 400 ไมล์ จากเมืองโนม (Nome) ไปถึงเมืองแคนเดิล (Candle) ในรัฐอลาสกา ซึ่งเป็นเส้นทางที่เดินทางได้ยากลำบาก ด้วยความสามารถในการวิ่งและการลากเลื่อน ทำให้ไซบีเรียน ฮัสกี กลายมาเป็นสุนัขสายพันธุ์ต้นๆ ที่นิยมในการแข่งขันสุนัขในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ในปีค.ศ. 1910 ชาร์ล ฟ็อกซ์ เมาเล แรมเซย์ (Charles Fox Maule Ramsay) ชายชาวสกอตแลนด์ ได้เล็งเห็นลักษณะและความสามารถของสุนัขพันธุ์นี้ จึงแนะนำให้ จอห์น ไอรอนแมน จอห์นสัน (John “Iron Man” Johnson) ผู้บังคับสุนัขลากเลื่อนใช้สุนัขไซบีเรียนฮัสกีลงแข่งขันลากเลื่อนในปีนั้น ส่งผลให้เอาชนะทีมคู่แข่งได้อย่างง่ายดาย และทีมของแรมเซย์ทีมอื่นๆ ที่ใช้ไซบีเรียนฮัสกีเป็นสุนัขลากเลื่อน ก็ยังเข้าเส้นชัยเป็นที่ 2 และที่ 4 ในการแข่งขันครั้งนั้นด้วย ในทศวรรษถัดมา สุนัขพันธุ์นี้ได้ถูกยกย่องให้เป็นพันธุ์ที่มีเกียรติสำหรับการแข่งขันลากเลื่อน โดยเฉพาะด้านความอดทนในการแข่งขัน
ในปี ค.ศ. 1925 เมืองโนม รัฐอลาสกาได้เกิดโรคระบาดจากสารพิษขึ้น ทำให้มีความต้องการยาต้านพิษอย่างเร่งด่วน จึงมีการจัดคนบังคับเลื่อน 20 คน และสุนัขลากเลื่อน 150 ตัว เพื่อขนส่งยาต้านพิษเป็นระยะทาง 674 ไมล์ข้ามรัฐอลาสกา ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 5 วันครึ่งเท่านั้น ถือว่าเป็นการเดินทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้สามารถช่วยผู้คนในเมืองโนมและชุมชนรอบข้างได้ เหตุการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า Great race of mercy หลังจากเหตุการณ์นี้ คนบังคับเลื่อนและสุนัขลากเลื่อนทั้งหมด กลายเป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศอเมริกา และบัลโต (Balto) สุนัขไซบีเรียนฮัสกีหัวหน้าฝูงสุนัขลากเลื่อนที่ได้วิ่งนำเพื่อนๆ ในการวิ่งครั้งสุดท้าย เพื่อส่งเซรั่มไปยังเมืองโนม ก็ได้รับชื่อเสียงอย่างมาก จนมีการสร้างรูปปั้นไว้เป็นที่ระลึกในเซนทรัลปาร์ค (Central park) ที่นิวยอร์ค 
10 เดือน หลังจากที่บัลโตได้วิ่งไปถึงเมืองโนม ความนิยมในไซบีเรียนฮัสกี ก็เริ่มแพร่ไปที่ประเทศแคนาดา และในปี ค.ศ. 1930 อเมริกัน เคนเน็ล คลับ (American Kennel club) สมาคมสุนัขแห่งอเมริกา ได้เริ่มทำความรู้จักสุนัขไซบีเรียน ฮัสกีมากขึ้น และมีการนำสุนัขไซบีเรียนฮัสกีหลายตัวไปฝึกเป็นทีมช่วยเหลือและทีมค้นหาของทหารรัฐอลาสกาในอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น